ความสว่างปรากฏ และความสว่างสัมบูรณ์
ดวงดาวแต่ละดวงที่เราเห็นบนท้องฟ้านั้น บางดวงเราก็เห็นว่าสว่างมาก บางดวงก็สว่างน้อย นักดาราศาสตร์เขามีวิธีวัดความสว่างของดาวแต่ละดวงอยู่สองชนิดครับ คือ ความสว่างปรากฏ (appearent magnitude) และ ความสว่างสัมบูรณ์ (absolute magnitude) หรือถ้าจะเรียกชื่อให้ไทยๆหน่อย ความสว่าง (magnitude) ก็คือคำว่า โชติมาตร นั่นเองครับ
เริ่มต้นจากนักดาราศาสตร์ชาวกรีกยุคดึกดำบรรพ์อย่างลุง ฮิพพาร์คัส (Hipparchus) ได้จัดฐานข้อมูลระบบแมกนิจูดขึ้นเป็นคนแรก โดยจัดอันดับความสว่างของดาวที่เขาเห็นเป็นแมกนิจูด โดยดาวที่สว่างที่สุด (ที่เขาเห็นนะ) ให้เป็นแมกนิจูดที่หนึ่ง รองลงมาเป็นแมกนิจูดที่สอง ไปเรื่อยๆ ถึงแม้เป็นระบบการวัดที่ไม่ละเอียดนัก แต่ก็ใช้อยู่นานถึงเกือบๆสองพันปี
ต่อมานักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่มีชื่อตามบัตรประชาชนว่า นอร์แมน พอกสัน (N.R. Pogson) ก็ได้คิดสมการที่เอาไว้ใช้คำนวณค่าแมกนิจูดต่างๆออกมา ทำให้การวัดค่าความสว่างของดวงดาวมีความละเอียดมากขึ้น แต่ก็ยังคงแนวคิดเดิมไว้ คือ แมกนิจูดน้อย จะสว่างมากกว่าดาวที่มีแมกนิจูดมาก สำหรับสมการในการคำนวณก็ไม่ยากเท่าไหร่ ใช้ลอการิทึมนิดหน่อย ดังนั้นจึงมีดาวที่มีอันดับความสว่างเป็นเลขลบ
(ถ้าสนใจสมการที่ว่า หาดูได้จากลิงก์ wikipedia ข้างบนครับ)
ส่วน ความสว่างสัมบูรณ์ หรือ absolute magnitude นั้นก็มีแนวคิดคล้ายๆกันครับ เพียงแต่ว่ากำหนดให้ดาวทุกดวงอยู่ห่างออกไปเท่ากันที่ระยะ 10 พาร์เซก (ประมาณ 32.6 ปีแสง) แล้วค่อยวัดความสว่างปรากฏอีกที จะได้รู้จริงๆว่าดาวดวงไหนมีพลังงานมากกว่ากันไงล่ะ
ตารางข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างค่าโชติมาตรปรากฏของวัตถุท้องฟ้าหลายๆ อย่างครับ
โชติมาตรปรากฏ | วัตถุท้องฟ้า |
---|---|
−26.73 | ดวงอาทิตย์ |
−12.6 | ดวงจันทร์เต็มดวง |
−4.4 | ความสว่างสูงสุดของดาวศุกร์ |
−2.8 | ความสว่างสูงสุดของดาวอังคาร |
-1.5 | ดวงดาวที่สว่างที่สุดในย่านความยาวคลื่นที่ตามองเห็น: ดาวซีริอัส (Sirius) |
0 | ค่าศูนย์ เดิมเคยนิยามให้ใช้ค่าความสว่างของดาวเวกา (Vega) |
3.0 | ความสว่างน้อยสุดที่มองเห็นได้ในเมือง |
3.9 | ดาราจักรแอนโดรมีดา |
4.0 | เนบิวลากลุ่มดาวนายพราน |
6.0 | ความสว่างน้อยสุดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า |
32.0 | ความสว่างน้อยสุดที่มองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลในย่านความยาวคลื่นที่ตามองเห็น |
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการดูดาวนะครับ
(Updated: July 2020)