สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 1 สิงหาคม 2551
สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเงาของดวงจันทร์ทอดมายังโลก คนที่อยู่บนโลกก็จะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าบังดวงอาทิตย์ และแสงของดวงอาทิตย์บางส่วนก็ถูกบดบังไป ดูภาพกันดีกว่าครับ
สุริยุปราคา แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
- สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse) ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ได้เต็มดวงพอดี
- สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
- สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Eclipse) ดวงจันทร์อยู่ไกลจากโลกเกินไป ทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นลักษณะวงแหวน
- สุริยุปราคาผสม (Hybrid Eclipse) สุริยุปราคาแบบเต็มดวงกับแบบวงแหวนเกิดขึ้นผสมกันในครั้งเดียว โดยที่บางแห่งเห็นเป็นแบบเต็มดวง แต่บางแห่งจะเห็นเป็นแบบวงแหวน แบบนี้พบได้ยากครับ
โดยปกติแล้ว สุริยุปราคาเกิดขึ้น ๒ - ๕ ครั้งในทุกๆปีครับ โดยครั้งต่อไปจะเกิดในวันศุกร์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ นี้ เป็นแบบเต็มดวงด้วยครับ แต่เงามืดนั้นไม่พาดผ่านพื้นที่ของประเทศไทยครับ เราจึงได้เห็นแต่เงามัวของสุริยุปราคาเท่านั้น สำหรับพื้นที่ที่จะมองเห็นเป็นแบบเต็มดวง ก็คือตอนเหนือของเกาะกรีนแลนด์ มหาสมุทรอาร์กติก รัสเซีย มองโกเลีย และมาสิ้นสุดที่ประเทศจีนครับ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๒ นาที ๒๗ วินาที
ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเห็นสุริยุปราคาครั้งนี้ได้โดยต้องใช้ แผ่นกรองแสงหรือการสังเกตการณ์ทางอ้อม เช่นดูภาพสะท้อนบนผนังผ่านกระจก ดวงจันทร์เข้าบังบางส่วนของดวงอาทิตย์ในช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า จนกระทั่งตกลับขอบฟ้า (ขณะหายไปที่ขอบฟ้าก็ยังเห็นดวงอาทิตย์แหว่งอยู่) บริเวณที่มีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดคือภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนเวลาที่เกิดปรากฏการณ์แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ เริ่มเวลา ๑๘.๐๒ น. ดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดขณะดวงอาทิตย์ตกด้วยอัตราส่วน ๕๔% - วรเชษฐ์ บุญปลอด, สมาคมดาราศาสตร์ไทย
สุริยุปราคาครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมมีโอกาสได้เห็น คือสุริยุปราคาเต็มดวง** วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๘** แต่ผมไม่ได้เห็นแบบเต็มดวงนะครับ เพราะสังเกตอยู่ที่โรงเรียน ที่จังหวัดน่าน ตอนนั้นยังเป็นเด็กประถมอยู่เลย ถึงวันนี้ก็ ๑๒ ปีกว่าๆแล้วล่ะครับ แต่ผมยังจำภาพวันนั้นได้ดี ทุกคนตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ครั้งนั้นมาก ออกมาดูกันเกือบทุกคนเลยครับ ผมเองก็หาวิธีดูต่างๆมากมาย แต่แล้ววิธีที่ง่ายที่สุด ก็คือมองที่เงาของต้นไม้ แบบข้างล่างนี่แหละครับ สวยมาก (ตอนนั้นที่โรงเรียนมีต้นโพธิ์ต้นใหญ่มากอยู่สองต้นครับ ใต้ต้นโพธิ์ที่ผมเห็นก็เป็นแบบนี้เลย)
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคา คือ ห้ามมองด้วยตาเปล่าเป็นอันขาด จนกว่าดวงจันทร์จะบังดวงอาทิตย์เต็มทั้งดวงครับ เพราะไม่ได้มีเพียงแค่แสงอันเจิดจ้าของดวงอาทิตย์เท่านั้นนะครับที่เป็นอันตราย ยังมีรังสีที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า พุ่งเข้าตาเราจู๊ดๆแบบไม่รู้ตัวเลยล่ะครับ ระวังกันด้วยนะครับเวลาจะดู
ตัวผมเองก็ไม่รู้จะลืมรึเปล่า เวลามีอะไรสำคัญๆแบบนี้ชอบลืมทุกทีเลยครับ
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการดูดาวนะครับ
อามโน ;)
ขอบคุณรูปภาพจาก : ฟิสิกส์ราชมงคล , jamesmaidhofphotography.biz และ wikipedia.org ครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
- สุริยุปราคาเต็มดวง 1 สิงหาคม 2551 (สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
- สุริยุปราคาเต็มดวง 1 สิงหาคม 2551 (2) (สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
- เวลาการเกิดสุริยุปราคา 1 สิงหาคม 2551 ในประเทศไทย เรียงตามจังหวัด (สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
- ฟิสิกส์ราชมงคล