รีวิว: สั่งซื้อจักรยานจาก Canyon

Armno's avatar
Published on January 28th, 2019
By Armno P.

ผมสั่งซื้อจักรยานจาก Canyon เมื่อไม่กี่เดือนก่อน จึงอยากจะเขียนรีวิวขั้นตอนการสั่งซื้อจักรยานจาก canyon.com เก็บไว้ สำหรับคนที่สนใจครับ

รุ่นที่สั่งซื้อเป็นเฟรมเซ็ต Canyon Endurace CF SL รุ่นเกียร์ธรรมดา (Mechanical) เป็นเฟรม disc brake ครับ

โพสต์นี้จะขอเล่าถึงเฉพาะขั้นตอนการสั่งซื้อ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของทั้ง 3 บทความในชุด ซึ่งมีดังนี้ครับ

  1. รีวิว: สั่งซื้อจักรยานจาก Canyon (โพสต์นี้)
  2. แกะกล่อง Canyon Endurace CF SL
  3. รีวิว Canyon Endurace CF SL (2018)

⚠️ เนื้อหาทั้งหมดนี้มาจากประสบการณ์และความคิดเห็นของผมเอง ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ใช้อ้างอิงได้ และไม่สามารถรับประกันได้ว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์เดียวกัน โปรดใช้วิจารณญาณครับ ⚠️

เกริ่นนำ

Canyon เป็นแบรนด์จักรยานยักษ์ใหญ่จากประเทศเยอรมันที่ขายจักรยานของตนเองผ่านเว็บไซต์ canyon.com เพียงช่องทางเดียว ไม่มีตัวแทนผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายในแต่ละประเทศเหมือนยี่ห้ออื่นๆ

โลโก้ของจักรยาน Canyon

หมายความว่าถ้าเราอยากได้จักรยาน Canyon ก็ต้องสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์เท่านั้น จ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตบนเว็บไซต์ของ Canyon เอง แล้วจักรยานจะถูกส่งมาจากประเทศเยอรมันตรงถึงบ้านเราเลย

ซึ่งนอกจากจะต้องจ่ายเงินค่าจักรยานแล้ว ต้องจ่ายค่าขนส่ง และภาษีนำเข้า ในอัตราที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศครับ (รายละเอียดจะเล่าถึงต่อไป)

ฟังดูเป็นเรื่องยุ่งยากไปหน่อยสำหรับบ้านเรา เลยมีร้านที่รับหน้าที่สั่งซื้อจักรยานจาก Canyon ให้โดยเฉพาะ คือสั่งซื้อกับทางร้าน จ่ายเงินกับทางร้าน แล้วทางร้านจะจัดการสั่งซื้อจาก Canyon ให้อีกที ที่ผมรู้จักก็มีเพจ Canyon Bikes Thailand กับ JJ Bike Canyon (ไม่ได้โฆษณานะ)

ส่วนราคาก็แล้วแต่ร้านจะกำหนด ส่วนมากมักจะไม่ได้แพงกว่าซื้อเองเท่าไหร่ เผลอๆ บางทีอาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำ

สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณอยากซื้อจักรยาน Canyon จากเมืองไทย มี 2 ทางเลือก คือ

  1. สั่งซื้อเองจาก canyon.com หรือ
  2. ซื้อกับร้านที่เป็นนายหน้าซื้อให้อย่างข้างบน ในกรณีที่ไม่อยากเป็นธุระซื้อเอง

ผมเลือกทางเลือกแรก: สั่งซื้อเอง เพราะอยากรู้ว่า “ประสบการณ์” การสั่งซื้อจักรยานจาก Canyon จะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่ดีก็จะได้รู้กันไปเลย

1. เลือกรุ่น ดูราคา

Update: กลางปี 2019 Canyon ได้ปรับโฉมเว็บ canyon.com ใหม่ทั้งหมด ทำให้หน้าตาไม่เหมือนกับในรูป screenshot ประกอบบทความแล้วนะครับ

ขั้นตอนแรกคือเข้าไปที่เว็บ canyon.com ก่อน ถ้าเข้าจากเมืองไทยก็จะถูก redirect ไปที่ https://www.canyon.com/en-th/ โดยอัตโนมัติ หรือไม่ก็เลือกเปลี่ยนได้จากเมนู

ราคาและสกุลเงินที่แสดงก็จะเปลี่ยนไปตามประเทศที่เลือก ราคาอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย และบางประเทศก็ไม่ได้มีจำหน่ายครบทุกรุ่นครับ

เปลี่ยนประเทศและภาษาได้จากเมนู

สำหรับประเทศไทย จะแสดงราคาเป็นหน่วยดอลล่าห์สหรัฐ (USD) เป็นราคาที่ถูกหักภาษี EU ออกไปแล้ว เพราะเราไม่ต้องจ่ายภาษี EU แต่ต้องจ่ายเป็นภาษีนำเข้าแทนครับ (เรื่องภาษีเดี๋ยวว่ากันต่อ)

เลือกรุ่นจักรยานได้จากเมนูด้านบนเลย แบ่งรุ่นไว้ชัดเจน

เมนูหลักของ Canyon.com

พอกดเข้าไปก็ต้องเลือกรุ่นย่อยอีกที ซึ่งแต่ละรุ่นก็อาจจะมีรุ่นย่อยไม่เหมือนกัน อย่างเช่นรุ่น Endurace ที่ผมเลือก ก็จะมีรุ่นย่อยคือ

* แต่ละรุ่นหลักอาจจะมีรุ่นย่อยไม่เหมือนกัน และบางรุ่นย่อยอาจจะมีขายแบบ complete bike เท่านั้น ไม่มีเฉพาะเฟรมเซ็ต ต้องเช็คดูก่อนครับ

เมื่อกดเลือกรุ่นย่อยเข้าไปแล้ว ก็จะมีหลายสเป็คและราคาให้เลือก พร้อมกับสีที่มีให้เลือกในแต่ละสเปค

เลือก spec ได้จากตรงนี้

รุ่นที่กำลังลดราคาจะมีป้ายส้มๆ บอกไว้ชัดเจน

รุ่นที่กำลังลดราคา จะมีป้ายบอกว่าลดเท่าไหร่

กดเข้าไปดูสเป็คอย่างละเอียดได้ทุกคัน

spec อย่างละเอียด

สำหรับเฟรมเซ็ต จะมีบอกไว้ด้วยว่ามาพร้อมกับแฮนด์ / สเต็มรุ่นไหนอย่างไร อย่างเฟรม Endurace CF SL ที่ผมเลือก มาพร้อมแฮนด์อินทิเกรต H31 กับหลักอาน S15 VCLS 2.0

spec ของเฟรมเซ็ต

ส่วนขนาดของแฮนด์ / สเต็ม จะบอกไว้ในตาราง geometry chart ครับ

ขนาดของแฮนด์ สเต็มที่จะมาพร้อมเฟรมแต่ละไซส์

วิธีคำนวนราคา

แต่ละคันจะมีราคาบอกไว้ชัดเจนใต้รูปภาพ พร้อมทั้งระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมทั้งค่าบรรจุกล่องกับค่าขนส่ง / ราคานี้ถูกหัก VAT. ออกแล้ว

ราคา

กด link “SHIPPING” เพื่อไปดูค่าขนส่งได้ ซึ่งค่าส่งจะกำหนดไว้แน่นอน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าราคาสินค้าจะเท่าไหร่ (ค่าส่งแบบสั่งซื้อทั้งคัน (complete bike) กับแบบเฟรมเซ็ตจะไม่เท่ากัน)

ค่าขนส่ง

ค่าส่งแพงขนาดนี้เพราะ Canyon ใช้ขนส่งด่วนเพียง 2 เจ้าเท่านั้นคือ DHL กับ UPS นั่นเอง ผมไม่แน่ใจว่าหลักการเลือกบริษัทขนส่งของ Canyon เป็นยังไง ของผมได้มากับ UPS ครับ

ที่เราต้องจ่ายให้กับ Canyon คือ ราคาจักรยาน + ค่าขนส่ง ตัวอย่างเช่น

ราคาหลังจากเพ่ิมในรถเข็นแล้ว รวมค่าจักรยานกับค่าขนส่งไว้ด้วยกัน

เพราะฉะนั้น เวลาคำนวนราคาของรุ่นที่เล็งไว้ อย่าลืมบวกค่าขนส่งก่อน แล้วค่อยคำนวนเป็นเงินบาทครับ

2. สั่งซื้อและจ่ายเงิน

เมื่อตัดสินใจเลือกรุ่นที่ต้องการได้แล้ว ก็กดปุ่ม ADD TO CART จะมี pop up มาให้เราเลือกสีและไซส์รถที่ต้องการ แต่ละไซส์จะมีสถานะบอกไว้ข้างใต้

สถานะความพร้อมส่งของแต่ละ size

ถ้าเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ FROM STOCK ก็ต้องรอก่อนครับ แต่ถ้าสถานะเป็น FROM STOCK ก็เลือกและไปต่อได้เลย

จากนั้นก็ไปถึงหน้า Checkout จะแสดงราคาสินค้าที่เราเลือกไว้ พร้อมเสนอ option เสริมอีกมากมาย มีทั้งสินค้าของ Canyon เอง และจากแบรนด์อื่นด้วย จะเลือกเพิ่มหรือไม่ก็แล้วแต่สะดวกเลยครับ

เท่าที่สังเกต อุปกรณ์เสริมจุกจิกของ Canyon นั้นราคาไม่แพง และบางอย่างไม่มีขายในเมืองไทย ผมเองก็ได้ผ้าพันแฮนด์ของ Canyon ติดมาด้วย

การเลือกซื้ออุปกรณ์เสริมนั้นจะไม่เสียค่าขนส่งเพิ่มครับ

หน้า checkout
อุปกรณ์เสริมที่มีให้เลือกเพิ่มเติม

จากนั้นขั้นตอนที่ 2 ก็เป็นการใส่ที่อยู่ ไม่มีอะไรพิเศษครับ

ขั้นตอนที่ 3 เลือกวิธีการจ่ายเงิน มี 2 วิธีให้เลือกคือการโอนเงินไป กับการจ่ายด้วยบัตรเครดิต/เดบิต Visa (ผมเลือกจ่ายด้วยบัตรเดบิต Visa เพราะสะดวกดี เหมือนกับการซื้อของออนไลน์อื่นๆ)

เลือกวิธีการชำระเงิน

สุดท้าย confirm order และจ่ายเงิน เป็นอันเสร็จขั้นตอนการสั่งซื้อ

เราจะได้รับ email ยืนยัน order จาก Canyon มาแบบนี้ พร้อมกับบอกว่า order ของเราจะถูกส่งออกมาช่วงวันไหน ของผมสั่งซื้อวันเสาร์กลางคืน จะถูกส่งอย่างเร็วสุดก็วันจันทร์ (วันอาทิตย์หยุด)

email ยืนยัน order จาก Canyon

Canyon จะส่งใบสรุปรายการสั่งซื้อเป็น PDF แนบมาด้วย

ใบสรุปรายการสั่งซื้อ

กรณีใช้บัตรเดบิตธนาคารกรุงเทพ: ก่อนกดซื้อแนะนำว่าควรเช็คยอดวงเงินสูงสุดต่อวันของบัตรฯ อีกครั้งครับ ของผม payment failed ไป 2-3 ครั้ง เพราะยอดที่ต้องจ่าย (ประมาณ 52,xxx บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ ตอนนั้น) เกินวงเงินสูงสุดต่อวันของบัตรที่ตั้งค่าไว้ (50,000 บาท) ต้องไปเปลี่ยนการตั้งค่าวงเงินของบัตรก่อน บัตรเดบิตของธ. กรุงเทพ โทรไปที่บัวหลวงโฟน 1333 ได้เลย

กรณีต้องการแก้ไข order

สังเกตว่าในใบสรุปการสั่งซื้อ ตรงที่อยู่จัดส่ง (delivery address) นั้นเบอร์โทรผมที่ใส่ตอนกรอกข้อมูลนั้นหายไป (ตอนก่อนกดซื้อก็เช็คแล้ว แต่ไม่รู้หายไปได้ไง)

หากต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการสั่งซื้อ เช่นชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรฯ หลังจากสั่งซื้อไปแล้ว ทำได้โดยการติดต่อผ่าน contact form ในหน้าเว็บไซต์ครับ https://www.canyon.com/en-th/about-us/contact/ (หรือใครอยากจะลองโทรไป ก็ได้นะ)

หน้า contact form

ระบุ customer number ที่ได้จาก email ยืนยัน order ส่วนในช่อง message ก็บอกว่าต้องการแก้ไขอะไร ของผมก็ขอให้เขาใส่เบอร์โทรลงไปใน delivery address ให้หน่อย เพื่อที่เวลาของมาถึงไทย บริษัท shipping จะได้โทรหาผมได้ แล้วก็มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการตัดวงเงินบัตรด้วย (เนื่องจากตอนแรกที่มีปัญหา payment failed)

ถ้าติดต่อในเวลาทำงานของเขา จะตอบกลับค่อนข้างไวครับ ทางโน้นก็ตอบกลับมาผ่าน email บอกว่าได้แก้ไข order ให้แล้ว พร้อมกับแนบใบยืนยัน order เวอร์ชั่นที่อัพเดทแล้วมาให้ด้วย

email ตอบกลับจาก customer support

รออีกไม่กี่ชั่วโมง ก็ได้รับ email อีกฉบับ บอกว่าสินค้าถูกส่งมาแล้ว พร้อมทั้งเลข tracking number ของ UPS

email อีกฉบับ แจ้งว่าส่งสินค้าแล้ว

ของผมได้มา 2 เลขเพราะซื้อผ้าพันแฮนด์ด้วย tracking number แยกกันเพราะมีพัสดุ 2 กล่อง แต่พัสดุมาถึงพร้อมกันครับ

3. ติดตาม shipping

ระหว่างนี้ก็กดติดตาม package ได้เรื่อยๆ เลย ใช้เวลาไม่ถึง 3 วัน พัสดุจากเมืองเบียร์ก็มาถึงที่สุวรรณภูมิ ถือว่าเร็วดี

4. ขั้นตอนการนำเข้า

มาถึงขั้นตอนสำคัญ และน่าปวดหัวที่สุดแล้ว..

เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีนำเข้า ก็จะมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้ครับ

  1. สินค้ามาถึงเมืองไทย
  2. ศุลกากรตรวจสอบ คำนวนภาษีที่เราต้องจ่ายเพิ่ม (ในระหว่างนี้ศุลกากรจะกักของไว้ก่อน)
  3. บริษัท shipping แจ้งเรามาว่าต้องเสียภาษีเพิ่มอีกเท่าไหร่
  4. เราจ่ายภาษีตามที่แจ้ง
  5. บริษัท shipping เข้าไปรับของจากศุลกากร แล้วส่งให้เราตามที่อยู่

แต่ในความเป็นจริงมีรายละเอียดยิบย่อยค่อนข้างเยอะ สำหรับมือใหม่จะงงได้ง่ายๆ จะพยายามเขียนให้ละเอียดที่สุด หากพลาดตรงไหน หรือไม่เข้าใจส่วนไหน คอมเม้นต์แจ้งไว้ได้เลยครับ


เริ่มจากคำถามที่มักจะถามกันบ่อยๆ ก่อน

ต้องเสียภาษีไหม?

ตามหลักแล้วขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศุลกากร ว่าจะเรียกเก็บภาษีกับสินค้าของเราไหม ถ้าเป็นสินค้าราคาไม่สูงมากอาจจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีก็ได้ สำหรับสินค้าจักรยาน ลองไปอ่านกระทู้นี้จาก ThaiMTB ดูได้ครับ: รีวิว เว็ป E-Commerce สินค้าเกี่ยวกับจักรยาน ที่ส่งมาไทย ในคอมเม้นต์มีทั้งบอกว่าโดนเก็บภาษีและไม่โดน

แต่สินค้าราคาสูงอย่างจักรยานหรือเฟรมจักรยาน พร้อมกับส่งมาทางบริษัทเอกชนอย่าง DHL หรือ UPS แบบนี้ คิดว่าโดนเรียกเก็บภาษีแน่นอนครับ

ต้องเสียภาษีเท่าไหร่?

ศุลกากรจะเรียกเก็บภาษี 2 แบบครับ

คิดยังไง?

ตัวอย่างในกรณีของผม

เป็นภาษาพูดง่ายๆ คือ ราคาของ 5 หมื่นนิดๆ ต้องจ่ายภาษีอีกเกือบหมื่น

ยังไม่หมด: เนื่องจากภาษีจะถูกคิดต่อสินค้าแต่ละชิ้น ผ้าพันแฮนด์ ​Canyon ของผมก็ถูกคิดภาษีเหมือนกัน! เฉพาะผ้าพันแฮนด์ (ที่ราคา 4 ร้อยกว่าบาท) โดนเรียกเก็บภาษีอีกประมาณ 85 บาท

รูป: ใบแจ้งจากศุลกากร

สังเกตว่าไม่ได้คิดทีเดียว 17% นะครับ แต่คิดภาษีนำเข้า 10% ก่อน รวมกับราคาสินค้าแล้วได้เท่าไหร่ ค่อยนำยอดนั้นมาคิด VAT 7% อีกที ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนนั้นดูจากวันที่ถูกคิดภาษี ไม่ใช่วันที่เราซื้อสินค้าครับ

ก็เป็นเงินไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

แล้วมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกไหม?

แน่นอน…


ให้ UPS ดำเนินการกับสินค้า (1)

ช่วงขั้นตอนนี้ ศัพท์แสงอาจจะเยอะหน่อย แต่เป็นคำที่เขาใช้กันจริงๆ ซึ่งผมเจอตอนแรกก็งงเหมือนกัน ถ้าอ่านแล้วแปลกต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วยครับ

หลังจากที่สินค้ามาถึงเมืองไทยแล้ว UPS Thailand โทรมาตามเบอร์ที่ผมให้ไว้ใน shipping address แจ้งว่ามีสินค้ามาส่ง พร้อมกับขอ email ผมไปเพื่อส่งข้อมูลเพิ่มเติม (ในใบขนส่งสินค้าทางอากาศที่ติดมากับสินค้า Canyon ไม่ได้ใส่ email มาด้วย)

รอสักพักก็ได้ email มาจาก UPS Thailand มาพร้อมรายละเอียด ที่อ่านแล้วจะงงๆ นิดหน่อยสำหรับมือใหม่ แต่หลักๆ แล้วคือ UPS ให้กรอกใบตอบกลับจากทางเราว่า ต้องการให้ UPS ดำเนินการกับสินค้าให้เราหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการนั้นก็คือ

  1. ดำเนินพิธีการศุลกากร คือ การตรวจสอบเอกสาร ข้อมูล และชำระภาษีอากร
  2. ดำเนินพิธีการตรวจปล่อยสินค้า คือ การเข้าไปเอาสินค้าออกจาก (เคลียร์สินค้า)

ทั้ง 2 ขั้นตอนนี้ เราจะเลือกไม่ใช้บริการของ UPS ก็ได้ ก็คือต้องไปเดินเรื่องเอง ยื่นเอกสารอะไรเองที่ออฟฟิศศุลกากรที่สุวรรณภูมิ ผมอยู่ต่างจังหวัดเลยไม่มีทางเลือกอื่นก็คือต้องให้ UPS จัดการให้

นอกจากนี้ เรายังต้องระบุข้อมูลสินค้าอย่างละเอียด ว่าคือสินค้าอะไร ยี่ห้ออะไร รุ่นอะไร มาจากประเทศไหนด้วย

UPS จะมีแบบฟอร์มมาให้ ให้เรากรอกด้วยมือ แล้วสแกนเป็นไฟล์ ส่งเป็น email กลับไป พร้อมทั้งสำเนาบัตรประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีอีกขั้นตอนที่สำคัญที่เราต้องจัดการ_ด้วยตัวเอง_ คือการลงทะเบียนผู้นำเข้า

การลงทะเบียนผู้นำเข้า (ในนามบุคคลธรรมดา)

ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องทำ แต่ต้องทำแค่ครั้งเดียว (ถ้าเคยลงทะเบียนแล้ว ข้ามหัวข้อนี้ไปเลยก็ได้ครับ) เป็นการลงทะเบียนตัวเราเองกับกรมศุลกากรเพื่อให้กรมศุลกากรมีข้อมูลของเราในรายชื่อผู้นำเข้า และก็เพื่อที่จะให้ UPS เข้าไปเอาสินค้าแทนเราได้

ที่จำเป็นต้องทำก็เพราะไม่งั้น UPS (หรือบริษัทอื่นๆ ที่เราใช้บริการ) จะไม่สามารถเข้าไปเอาสินค้าในนามของเราได้ครับ

ที่เชียงใหม่ต้องไปที่ตึกอาคารคลังสินค้า อยู่ติดกับสนามบิน เดินขึ้นไปที่ชั้น 2 ห้องที่ 2 หรือ 3 นี่แหละ หรือถามคนแถวนั้นเอาก็ได้ครับ บอกว่ามาลงทะเบียนผู้นำเข้า

เอกสารที่ใช้ มีแค่บัตรประชาชนตัวจริง เจ้าหน้าที่จะให้กรอกข้อมูลเล็กน้อย รอไม่ถึงห้านาทีก็เสร็จแล้ว ไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ

รูป: อาคารคลังสินค้า

จากนั้นเราก็แจ้งกลับไปทาง UPS ได้เลยว่า เราลงทะเบียนผู้นำเข้าแล้ว ดำเนินการต่อได้เลย

ให้ UPS ดำเนินการกับสินค้า (2)

เมื่อเราแจ้งไปทาง UPS แล้วว่า เราได้ลงทะเบียนผู้นำเข้าแล้ว UPS ก็จะทำการ “ดำเนินพิธีการศุลกากร” ซึ่งผมเข้าใจว่าก็คือการยื่นเอกสารให้ศุลกากรเพื่อตรวจสอบและคำนวนภาษี ขั้นตอนนี้อาจจะใช้เวลาสัก 2-3 วัน ก็ต้องรออย่างเดียวครับ

เมื่อขั้นตอนของศุลกากรเสร็จเรียบร้อยแล้ว (หมายถึงไปนำสินค้าของเรามาได้แล้ว) ก็เป็นขั้นตอนการจัดส่งครับ

5. จัดส่งสินค้า (ซักที!)

ก่อนที่จะจัดส่งสินค้าจากสุวรรณภูมิมาถึงมือเรา UPS จะมีอีเมลแจ้งสรุปค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่าย ประมาณนี้ครับ

  1. ภาษีอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามที่อธิบายข้างบน ของผมรวมแล้ว 9,724 บาท
  2. ค่าโกดังกรมศุลกากร คือตอนที่สินค้าเราค้างอยู่ที่โกดัง (รอการเคลียร์ภาษีต่างๆ ในขั้นตอนก่อนหน้า) ก็ต้องมีค่าเช่าโกดังด้วยครับ คิดวันละ 100 บาท + VAT อีก 7 บาทเป็นวันละ 107 บาท ของผมค้างไว้ 4 วัน ก็ต้องจ่าย 428 บาท
  3. ค่าธรรมเนียม cargo permit + terminal charge 749 บาท
  4. ค่าธรรมเนียมในการเดินพิธีศุลกากร (ที่เราให้ UPS ทำแทนเรา) 200 บาท
  5. ค่าดำเนินการพิธีศุลกากร + VAT อีก 1,284 บาท

รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็น 12,385 บาท

รูป: ใบแสดงค่าใช้จ่ายก่อนส่งสินค้า

UPS จะให้เราเลือกว่าจะจ่ายเป็นเงินสดตอนรับสินค้า หรือจ่ายเป็นเช็ค ผมเลือกเป็นจ่ายเงินสดตอนรับสินค้า พร้อมกับเตรียมเงินสดไว้ชำระตามที่แจ้งไว้ก่อนหน้าในอีเมล

หลังจากนั้นกล่อง Canyon ก็ถูกส่งมาถึงที่อยู่ผม ผ่าน Kerry Express อีกที

กล่องจักรยาน Canyon ด้านหน้า

สรุป

การสั่งซื้อจักรยานโดยตรงจากผู้ผลิตอย่าง Canyon ที่ชูจุดเด่นของการขายที่ไม่มีผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ผู้ใช้ได้ซื้อจักรยานคุณภาพ ในราคาที่ถูกกว่า (เมื่อเทียบกับการขายแบบปกติ) และในด้านความสะดวกสบายที่สินค้าถูกส่งตรงมาถึงบ้านเลย มีปัญหาอะไรก็ติดต่อกับบริษัทได้โดยตรง

แต่นั่นก็หมายถึงผู้บริโภคก็ต้องรับภาระที่เหลือเองด้วย ซึ่งก็คือค่าจัดส่ง การนำเข้าและเสียภาษีเอง แตกต่างกันไปตามกฏหมายแต่ละที่ สำหรับในบ้านเรา พอบวกลบกันแล้ว จุดเด่นด้านราคาเลยอาจจะดูไม่เด่นเท่าไหร่เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ

กล่องจักรยาน Canyon ด้านหลัง

คุ้มไหมกับการสั่งเอง? ถ้าคุณอยากซื้อจักรยาน Canyon จากเมืองไทย ลองชั่งน้ำหนักดูดีๆ เปรียบเทียบภาระและค่าใช้จ่าย ระหว่างการซื้อเองกับการฝากร้านซื้อให้ (ย้ำอีกครั้งว่าผมไม่ได้รู้จักร้านที่รับซื้อ และไม่ได้โฆษณา)

ในกรณีของผม เรื่องค่าใช้จ่ายอาจจะไม่ต่างกันมาก แต่การต้องเสียเวลา เสียสุขภาพจิต จากขั้นตอนมากมาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อกับ UPS Thailand เพื่อดำเนินการต่างๆ นั้นปวดหัวอยู่ไม่น้อย คุยไม่รู้เรื่องเลย ติดต่อก็ยาก ทำเอาหัวร้อนและหงุดหงิดหลายครั้ง) รวมๆ แล้ว สำหรับผม มันไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่

ถึงแม้ Canyon จะเป็นแบรนด์จักรยานที่ชื่นชอบ แต่การซื้อจักรยานดีๆ สักคัน มันไม่ควรจะยุ่งยากขนาดนี้

(แต่มันก็เป็นแค่ความรู้สึกส่วนตัวนะครับ สำหรับคนอื่นอาจจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยากอะไรก็ได้)

และทั้งหมดนี้ก็คือ ประสบการณ์ที่ได้จากการสั่งซื้อจักรยานจาก Canyon ครับ ไว้ถ้ามีโอกาส จะมาเล่าถึงตัวจักรยานต่อไป

รูปจักรยานทั้งคัน หลังจากประกอบเสร็จ
Tags:

Related posts