ได้ Mechanical Keyboard มาเพิ่มอีก 1 ตัว จาก PCB DZ60RGB จากร้าน KBDFans รวมกับชิ้นส่วนที่ถอดมาจากคีย์บอร์ด Mark 5 ที่ทำให้ภรรยา เพราะเธอได้ยึดคีย์บอร์ดของผมไปใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว…
DZ60RGB รุ่นที่ผมได้มาเป็น layout แบบ ANSI ก็คือมาตรฐาน 60% ทั่วไป และก็เป็นแบบ hot-swappable slot ด้วย ก็คือไม่ต้องบัดกรีเพื่อติด switch เข้าไปกับแผ่น PCB แต่จะมีช่องเพื่อให้เสียบขา switch เข้าไปแทน
สเป็ค
- PCB: DZ60RGB - ANSI Layout, USB Type-C, QMK Firmware
- Case: Aluminum Low Profile
- Switches: Gateron Yellow, Kailh Box Red
- Stabilizers: Cherry PCB-mounted
- Plate: Aluminum (Black)
- Keycaps: PBT, DSA Profile
ตอนแรกผมลองทำแบบไม่ใช้ plate ก็คือเสียบ switch กับ keycaps ลองไปบน PCB เลย
ซึ่งมันก็ทำได้นะครับ ช่อง Kailh hot-swap ล็อกขา switch ได้ดีในระดับหนึ่ง
คือไม่ได้ล็อก switch อย่างแน่นหนึบ แต่ก็ไม่ถึงกับหลุดติดมือออกมาตอนพิมพ์
แก้ไข: หลุดครับ บ่อยด้วย
แต่ก็เจอปัญหาเดิมคือ วางปุ่มไม่ตรง แบบตัวก่อนหน้าที่เคยทำ switch Gateron Yellow ที่ใช้เป็นแบบ 5-pin ก็ยังโยกได้อยู่บ้าง แต่ถ้าใช้แบบ 3-pin ก็จะโยกเยอะกว่า ยิ่งไม่ได้บัดกรีแบบนี้ด้วย ถึงตอนแรกจะวางไปตรงๆ แล้ว ใช้ไปๆ อาจจะบิดเบี้ยวได้อยู่
ก็เลยลองทำใหม่ ใส่ plate เข้าไปด้วย ก็จะช่วยล็อก switch ให้เข้าที่เข้าทางได้มากขึ้น plate แบบ ANSI layout มีเหลือที่บ้านตัวสุดท้ายพอดี
Gateron Yellows กับ DSA Keycaps
Gateron Yellows เป็น linear switch ที่มี actuation force ที่ 50g ผมซื้อมาลองใช้ แต่เก็บไว้นานแล้วเพราะตอนนั้นรู้สึกว่ามันหนักไป ชอบเบาๆ แบบ red (45g) มากกว่า
แต่ได้เอามาลองใช้กับคีย์บอร์ดตัวนี้แล้วก็ทำให้เปลี่ยนความคิด จากเดิมที่ไม่ค่อยชอบทั้ง Gateron Yellows หรือ DSA Keycaps แต่พอเอามาใช้คู่กับกลับรู้สึกว่าพิมพ์สนุกขึ้นมาก
ผมเดาว่าอาจจะเป็นเพราะความสูงของ DSA keycaps ที่เตี้ยกว่า SA หรือ OEM profile ที่เคยใช้ ทำให้ไม่รู้สึกว่าต้องออกแรงมากในการกดพิมพ์ปกติ (และ bottom out ด้วย) ส่วน feedback ของ Gateron Yellows ก็หนึบๆ สำหรับผมแล้วใช้คู่กับ DSA keycaps เข้ากันดีเลยครับ
ไม่ต้องบัดกรี แล้วดีไหม?
การใช้ PCB แบบ hot-swappable มีข้อดีคือ ไม่ต้องบัดกรี switch ลงไปกับแผ่น PCB แค่เสียบลงไปก็ใช้งานได้เลย จะเปลี่ยน switch ก็ง่าย ดึงออกมาได้เลย
แต่ที่ต้องระวังก็คือ ตอนเสียบลงไปใน slot ต้องเล็งดีๆ ให้ขา switch ลงไปในช่องจริงๆ ไม่งั้นขา switch อาจจะพับงอได้ แก้ไม่ยาก ก็คือดึงออกมาแล้วดัดขา แล้วเสียบลงไปใหม่
อีกอย่าง เวลากด switch ลงไปก็ต้องกดลงไปให้สุดๆ ด้วย ไม่งั้นพอใส่ keycap แล้วปุ่มอาจจะสูงไม่เท่ากัน ของผมเกิดจากการใช้ switch ที่เคยบัดกรีมาแล้ว แล้วมีเศษตะกั่วบัดกรีติดที่ขา switch ก็ต้องเอาออกก่อน
จากที่ลองใช้มาสักพัก ผมว่า PCB แบบนี้เหมาะกับ switch แบบ 5-pin เพราะล็อกได้แน่นกว่า แต่ก็ควรจะมี switch puller ติดบ้านไว้ด้วยครับ ไม่งั้นดึงออกมายาก
ปัญหากับ Aluminium Low-Profile case
case ที่ผมใช้กับ PCB ตัวนี้คือ aluminium low-profile 60%
เจอปัญหาคือ hot-swap socket ของตัว H
ใต้ PCB
มันไปชนกันรูใส่สกรูตรงกลาง case
และด้วยความที่ case มันเป็นโลหะนำไฟฟ้า เลยทำให้เกิด short-circuit
กดปุ่มเดียวออกมาหลาย key เช่นผมกด y
ก็จะเป็น 6yh6yh6yh6yh6yh6yh6yh6yh6yh
วิธีแก้แบบบ้านๆ ของผมก็คือ เอาเทปกาวมาแปะตรงที่มัน short ทั้งหลัง PCB กับใน case เวลาขันสกรูติด PCB ลงบน case ก็ขันแค่พอให้อยู่ ไม่ให้ตึง – ถ้าขันแน่น hot-swap socket ตรงนั้น จะไปบี้กับ case จนหัก
แต่ยังไงแรงกดจากการพิมพ์ ก็อาจจะทำให้เกิดการสัมผัสกัน จนเทปขาดได้อยู่ดีนะ วิธีนี้จึงอาจไม่เหมาะกับคนที่รักและต้องการดูแล PCB ดีๆ สักเท่าไหร่ 😅
โดยรวมๆ แล้วข้อดีข้อเสียก็น้ำหนักพอๆ กัน ดีตรงที่สะดวก แต่ความแข็งแรงคงไม่เท่ากับแบบที่ต้องบัดกรี สำหรับผมแล้วมันเหมาะเอาไว้มาลอง switch แบบต่างๆ มากกว่าเอามาใช้งานเป็นตัวหลัก พอถููกใจแล้วค่อยเอา switch ไปใช้กับบอร์ดจริงครับ
หรือเอาไว้เป็นข้ออ้างกับตัวเองเพื่อที่จะซื้อ switch แบบอื่นๆ มาเพิ่มนั่นเอง 😅